วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

ตัวอย่างคำกล่าวต่าง ๆ

1. คำกล่าวรายงาน

คำกล่าวรายงานพิธีเปิด
โครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ
จังหวัดนครพนม
วันที่ 8 ธันวาคม 2551 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง อ.นาแก จังหวัดนครพนม

.....................................................

เรียน ผู้มีเกียรติทุกท่าน

กระผมตัวแทนผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดนครพนม มีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดในวันนี้

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานที่ประทับในทุกๆ ภาคของประเทศ จะเสด็จฯ เยี่ยมดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างสม่ำเสมอ โดยมิได้ทรงเหน็ดเหนื่อย และจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมติดตามถวายงานตามรับสั่ง เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชน ทรงแนะนำการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง รวมทั้งทรงพระราชทานแนวคิดใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นการกระทำที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตา ความห่วงใยและปรารถนาดีต่อพสกนิกรของพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้น หน่วยงานสัตวแพทย์ที่ถวายงานแด่ทั้งสองพระองค์ จึงมีความเห็นตรงกันในการที่จะร่วมกันถวายงานในด้านการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ในระหว่างที่ทรงแปรพระราชฐานที่ประทับเพื่อเป็นการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจที่ทรงมีอยู่และเป็นการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งจะเป็นเกียรติประวัติของสัตวแพทย์ ทุกคนว่าได้มีส่วนร่วมในการถวายงานเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวไทยตามพระราชประสงค์ต่อไป

กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโครงการสัตวแพทย์พระราชทาน ร่วมกับคณะ สัตวแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าเวชภัณฑ์สัตว์ และองค์กรส่วนท้องถิ่น จึงได้ร่วมกันดำเนินงานในโครงการสัตวแพทย์พระราชทาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 โดยเริ่มที่จังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2550 จากนั้นได้ดำเนินการเพิ่มอีกในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ และกระบี่ ในปีงบประมาณ 2552 เริ่มดำเนินการครั้งแรกในจังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2551 มีพื้นที่เป้าหมาย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปลาปาก อำเภอนาแก และอำเภอศรีสงคราม รวม 28 หมู่บ้าน มีเกษตรกรยื่นความจำนงขอรับบริการ 1,541 ราย สัตว์เข้ารับบริการ 14,893 ตัว สัตวแพทย์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 169 นาย แยกเป็น สำนักพระราชวัง 1 นาย สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 1 นาย ภาคเอกชน 4 นาย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3 นาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 นาย มหาวิทยาลัยมหิดล 26 นาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6 นาย มหาวิทยาลัยมหานคร 12 นาย สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ 10 ราย สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 4 8 นาย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 6 นาย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร 9 นาย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร 3 นาย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ 7 นาย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย 5 นาย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น 2 นาย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม 65 นาย กิจกรรมประกอบด้วย การตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ทั้งด้านอายุรกรรม สูติกรรม ศัลยกรรม การฉีดวัคซีนป้องกันโรค การกำจัดพยาธิภายในทางเดินอาหาร พยาธิในเม็ดเลือด พยาธิภายนอก การเก็บตัวอย่าง การตรวจชันสูตรโรคสัตว์ การสำรวจสภาวะโรค การเสวนาปัญหาด้านปศุสัตว์ การให้ความรู้ คำแนะนำ เป็นต้น

การดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนายอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง ท้องถิ่นอำเภอบ้านแก้ง สถานีตำรวจภูธรนาแกให้การสนับสนุนการจัดสถานที่ อำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม และอุทยานแห่งชาติภูลังกา อนุเคราะห์สถานที่พัก ต้องขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน

บัดนี้ได้เวลาสมควรแล้ว กระผมขอเรียนเชิญท่านประธานมอบวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ให้แก่ตัวแทนผู้นำชุมชน ให้โอวาท และเปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทานฯ ขอเรียนเชิญครับผม

..........................................................

2. คำกล่าวเปิดงาน

คำกล่าวเปิดงาน
โครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ
จังหวัดนครพนม
วันที่ 7 ธันวาคม 2551
วันที่ 8 ธันวาคม 2551 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง อ.นาแก จังหวัดนครพนม

................................................

เรียน ผู้มีเกียรติทุกท่าน

กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดนครพนม ในวันนี้

การดำเนินงานโครงการสัตวแพทย์พระราชทานนับว่าเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินินาถ ในการที่จะทำให้ประชาชนชาวไทย มีความอยู่ดี กินดี โดยถ้วนหน้า และเสมอภาคกัน เป็นการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจอีกทางหนึ่ง สร้างคุณประโยชน์ให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ อยู่ห่างไกล และขาดโอกาส นับเป็นความร่วมมือของ สัตวแพทย์ไทย ที่ได้บูรณาการบุคลากรทุกภาคส่วนทั้งในส่วนของวิชาชีพสัตวแพทย์ และวิชาชีพอื่น ๆ ในการที่จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นับเป็นความโชคดีของเกษตรกรจังหวัดนครพนมที่จะได้รับบริการจากบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีน้ำใจดีงาม ที่จะมาช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยของสัตว์ ความทุกข์ร้อนของทุกท่าน กระผมในนามของจังหวัดนครพนม ขอขอบคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ ขอให้ประสบแต่ความสุข เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป

กระผมขอให้ทุกภาคส่วน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯในครั้งนี้ ตั้งใจและร่วมมือกันดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ประสบผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ขออวยพรให้การทำงานสะดวก ราบรื่น ด้วยกันทุกฝ่าย

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทานในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ณ บัดนี้

.......................................................

3. คำกล่าวปิดงาน

คำกล่าวปิดงาน
ของ
พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตนายกรัฐมนตรี
ในพิธีปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1425
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2547 เวลา 21.30 น.

...........................................

ท่านจุฬาราชมนตรี
ประธานกรรมการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย
พี่น้องชาวไทยมุสลิม และผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมเพิ่งลงจากเครื่องบินเมื่อเช้านี้เพราะไปประเทศชิลีมา เดินทางไป-กลับใช้เวลา 48 ชั่วโมง ทำงาน 2 วัน เดินทาง 2 วัน เกือบมาไม่ไหว เพราะว่าวันนี้ทำงานทั้งวัน แต่ว่าต้องมาเพราะผมรู้จักงานเมาลิดกลางตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนเตรียมทหาร สมัยก่อนจัดที่สวนลุมพินี และผมยังแอบออกมาจากโรงเรียนเตรียมทหารมาเที่ยว มาทานไก่ย่างจีระพันธุ์ ซึ่งขณะนั้นก็ยังไม่ค่อยรู้ว่างานนี้คืออะไร ตอนหลังถึงรู้ว่าวันนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านศาสดามูฮัมหมัด ผมจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะปีนี้เป็นปี ฮิจเราะห์ศักราช 1425 และผมได้มีโอกาสมามอบถ้วยรางวัลพระราชทานแก่นักอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในวันนี้ เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
ทุกปีก็ได้รับฟังผู้ชนะเลิศทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ผมฟังโดยไม่ทราบความหมาย แต่ว่าความไพเราะได้บอกอะไรบางอย่าง ความหมายผมไม่ทราบโดยตรง จนกว่าจะมีการแปลออกมาแล้ว แต่ความไพเราะที่เข้ามา ทำให้มีความรู้สึกที่บ่งบอกถึงความสงบความสันติ ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า ศาสนาอิสลาม แต่คำที่แปลออกมาเมื่อสักครู่นี้ เป็นคำแปลที่องค์พระผู้เป็นเจ้าหรือองค์ศาสดาต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมีสันติ มีธรรมะ มีความเป็นธรรมต่อกัน ซึ่งในทุกบทของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งผมอาจจะรู้เป็นตอน ๆ แต่ทุกตอนที่รู้ ยังไม่มีตอนไหนเลยที่ไม่ดี มีแต่ตอนที่เป็นพระเมตตาที่อยากจะเห็นประชาชนทุกคนที่เกิดมาแล้วมีความรัก มีความปรองดอง มีสันติ มีการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่ข่มเหงกัน ทุกตอนของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานยังออกมาในทำนองนี้หมด
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าพี่น้องชาวไทยมุสลิม หรือชาวมุสลิมทั่วโลกมีความไม่สบายใจ เพราะทุกคนรักสันติ ทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสอน คำเสนอแนะของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ) และองค์พระศาสดา แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องของคนบางคนเพียงกลุ่มน้อย ซี่งผมอยากจะบอกกับพวกท่านทั้งหลายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้มาเป็นเวลา 30 กว่าปี และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวไทยมุสลิมแทบทุกจังหวัด ทรงมีความรักและเข้าใจ มีคำหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ไม่ใช่พี่น้อง ไม่ใช่พี่น้องชาวไทยมุสลิมที่ท่านทรงรู้จัก ท่านทรงรู้จักมา 30 กว่าปี ไม่ใช่แบบนี้ เพราะคนเหล่านั้นคือคนที่น่ารัก เป็นคนที่มีจิตใจดี มีแต่ความรักสันติ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่” นี่คือสิ่งที่ทรงรับสั่ง และเบื้องลึก ๆ ก็คือเป็นพระปรีชาที่เฉียบแหลม ที่ทรงเข้าพระทัยได้แบบนั้น ผมเชื่อว่างานในวันนี้ คงจะส่งผลให้พี่น้องชาวไทยมุสลิม หรือพี่น้องชาวมุสลิมทั้งหลาย ที่รำลึกถึงองค์พระศาสดา จะได้ส่งกระแสจิตแห่งความสันติทั้งหลายไปสู่ผู้ที่เข้าใจผิด หลงผิด ปฏิบัติผิด ประพฤติผิดทั้งหลาย ให้กลับมาสู่แนวทางของศาสนาอิสลามที่ถูกต้องต่อไป

ผมได้ให้การสนับสนุนการจัดงานเมาลิดกลางมาโดยตลอด ทั้งที่ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะว่ากรรมการบางคนรู้จักกันก็ขอให้ผมช่วยสนับสนุนการจัดงาน ผมก็เคยมาทุกครั้งที่ได้รับการบอก เพราะผมถือว่าศาสนาทุกศาสนาเป็นศาสนาที่บริสุทธิ์ ใครจะนับถือศาสนาใดก็ได้ เพราะว่าศาสนานั้นมีแต่เรื่องที่ดี ๆ ไม่มีเรื่องที่ไม่ดีเลย ถ้าใครมีกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา มีความซื่อตรงต่อศาสนา ต่อคำสั่งสอนของศาสนาตนเอง ย่อมมีแต่สิ่งที่ประพฤติดี และประพฤติชอบทั้งหมด

เพราะฉะนั้นเวลามีกิจกรรมอะไรที่เป็นศาสนา ซึ่งผมก็ทราบว่า ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ได้บอกไว้ด้วยว่า “ถ้าแผ่นดินใดให้มีการทำกิจกรรมทางศาสนา โดยไม่มีการขัดขวางทางพิธีกรรมทางศาสนา จะต้องเคารพ เว้นแต่เขาห้ามทำกิจกรรมทางศาสนา” ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะผมฟังมาอย่างนี้ สรุปแล้วคือ ประเทศไทยนี้เป็นประเทศซึ่งให้เสรีภาคในการนับถือศาสนาแก่คนไทยทุกคน และมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ศาสนูปถัมภ์พกของทุกศาสนา และในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดเจน เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพแก่ทุกศาสนา เพราะฉะนั้นคนไทยไม่เคยมีความรู้สึกแตกแยกในทางศาสนาเลย

วันนี้ผมถึงมาร่วมงานเมาลิดกลางอย่างกลมกลืน เพราะผมได้ให้ความเคารพศาสนาอิสลาม และท่านก็ไม่รังเกียจผม ที่นับถือศาสนาพุทธ เพราะเราคือคนไทยด้วยกัน ผมมาทำหน้าที่ และสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารอิสลาม พร้อมทั้งกิจกรรมทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวไทยมุสลิมได้ประกอบศาสนกิจอย่างดี ซึ่งผมสนับสนุนมาโดยตลอด และผมขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ชนะการอ่านกอรีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจย์ที่นครเมกะ โดยได้ทุนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) เป็นประธานจัด ถือว่าการชนะในปีนี้ ไม่ต้องรอไปชนะในประเทศมาเลเซีย ได้ทุนเลยทั้ง 2 คน ส่วนคนที่ได้รองชนะเลิศ ก็ขอให้หมั่นฝึกซ้อมใหม่ ถ้าได้ชนะปีหน้าก็จะได้ไปประกอบพิธีฮัจย์ ผมขอแสดงความยินดีต่อทุกท่าน

ผมขอเรียนว่า ท่านจุฬาราชมนตรี เป็นบุคคลที่ผมให้ความเคารพรัก เพราะท่านมีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของต่างศาสนาแต่เป็นคนไทยด้วยกันได้ดีมาก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานในปีนี้วันที่ 5 ธันวาคม ผมขอแสดงความยินดีในฐานะที่ท่านได้ประกอบกิจกรรมในสิ่งที่ดี ๆ สำหรับประเทศ และสำหรับพี่น้องชาวไทยมุสลิมด้วย

ผมหวังว่ากิจกรรมในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ซึ่งทราบว่า จัดขึ้นทุกปีแล้วก็ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและด้านการศึกษา การส่งเสริมการประกอบอาชีพของชุมชน โดยนำรายได้จากการจัดงานไปช่วยเหลือเกื้อกูลด้านสาธารณกุศล การศึกษา และพัฒนาสังคมด้วย จึงเป็นการดำเนินงานที่ถือว่าก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ และขอให้การจัดกิจกรรมอย่างนี้มีสืบเนื่องต่อไป หากมีอะไรที่ผมสามารถสนับสนุนได้ ก็ยินดีสนับสนุนต่อไป

ผมขอขอบคุณประธานจัดงานเมาลิดกลางในครั้งนี้ ที่ได้จัดมาด้วยความเรียบร้อย มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมและพี่น้องชาวไทยทั่วไทย รวมทั้งพี่น้องชาวมุสลิมต่างประเทศ ได้มาร่วมงานเป็นประจำทุกปี ผมขอขอบคุณอีกครั้งที่การจัดงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ และขออวยพรให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีชีวิตที่มั่นคงดีงามตลอดไป .

.................................................

4. คำกล่าวแนะนำบุคคล

ชาติ กอบจิตติ

ชาติ กอบจิตติ เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2497 ที่บ้านริมคลองหมาหอน ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่สอง ในจำนวนพี่น้องผู้หญิง 5 คน และผู้ชาย 4 คน รวมเก้าคน ชื่อเดิมคือสุชาติ แต่เขาเห็นว่าคนใช้ชื่อนี้กันมาก จึงเปลี่ยนมาเป็น "ชาติ" พ่อของเขาเป็นพ่อค้าขายเกลือเม็ด ส่วนแม่ขายของเล็กๆน้อยๆ ต่อมาพ่อก็ไปค้าทราย และขายของชำ เขาเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดใหญ่ บ้านปอ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชัยในจังหวัดเดียวกัน เพราะไปอยู่กับยายชั่วคราว เมื่อพ่อไปค้าทรายที่ราชบุรี เขามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนปทุมคงคาเมื่อ พ.ศ.2509 โดยอาศัยอยู่กับพระซึ่งเป็นเพื่อนของอาที่วัดตะพาน หรือวัดทัศนารุณ มักกะสัน พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปี่สามแล้วก็เรียนต่อเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์ เนื่องจากเป็นคนชอบวาดรูป ชอบเขียนหนังสือ ฝันใฝ่ที่จะเป็นนักประพันธ์ เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ เรื่อง "นักเรียนนักเลง" เขียนลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา 2512 ได้มีโอกาสเขียนบทละครแสดงที่เพาะช่างมากกว่าสิบเรื่องบางเรื่องได้แสดงเองด้วย ตอนที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เคยสมัครไปทำงานเปิดบาร์อะโกโก้ ที่ถนนพัฒน์พงษ์ เพื่อหางานเรียน พ.ศ. 2515 ช่วงเรียนชั้นปีที่ 3 ศิริพงษ์ อยู่ชวนไปทำอาร์ตเวิร์คหนังสือ “เสนาสาร” ยุคดารา อยู่ระยะหนึ่งและได้เขียนวิจารณ์โทรทัศน์ เขาแต่งงานเมื่อ พ.ศ.2520 กับเพื่อนสาวที่เรียนจบเพาะช่างมาด้วยกัน ชื่อ รุจิรา เตชะศีลพิทักษ์ ซึ่งรับราชการอยู่กองโบราณคดี แผนกซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร แล้วลาออก ซึ่งต่อมาได้ช่วยกันทำกระเป๋าไปฝากขายตามห้าง ซึ่งมีรายได้ดี เคยได้รวมงานกับรุ่นน้องที่เพาะช่างทำสำนักพิมพ์ “สายธาร” พิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่ม วันหนึ่งได้นำเรื่องสั้นชื่อว่า “ผู้แพ้” มาให้เรืองเดช อ่านซึ่งตอนนั้นเรืองเดชได้รวมงานกันอยู่ เรืองเดชได้อ่านแล้วเห็นว่าเรื่องนี้ดีเลยส่งไปให้สุชาติสวัสดิ์ศรีที่กำลังทำ “โลกหนังสือ” อยู่ในขณะนั้นพิจารณา ปรากฏว่าเรื่องสั้น ของชาติ กอบจิตติ ได้ลงพิมพ์ในโลกหนังสือฉบับเรื่องสั้นชุด “คลื่นหัวเดิ่ง” เมื่อพ.ศ.2522 และเป็นหนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับรางวัล “ช่อการะเกด” ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งถือกันว่าเป็นรางวัลที่ได้มาตรฐานมากที่สุดรางวัลหนึ่งและเรื่องเดี่ยวกันนี้ ยังได้รางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2522 ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างพ.ศ. 2532 – 2535 ได้เดินทางไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ได้มีผลงานออกมาจากการเขียนเรื่องสั้นบันทึกชีวิตที่นั้นบางเรื่อง จนพ.ศ. 2536 ก็จัดพิมพ์นวนิยายเรื่อง “เวลา” โดยสำนักพิมพ์ “หอน” ของตัวเอง ปรากฏว่าได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2537 นับเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลซีไรต์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และเรื่องเดียวกันนี้ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการประจำปี 2537 ปัจจุบัน เขาทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน จึงใช้ชีวิตอยู่เงียบๆที่ไร่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเขาทำงานด้านการเขียนเพียงอย่างเดียว นอกจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้ว ในระยะหลังยังเขียนบทความและบทภาพยนตร์เพิ่มขึ้น งานเขียนครั้งแรก เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ เรื่อง "นักเรียนนักเลง" เขียนลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา 2512 ผลงานรวมเล่ม คือ ทางชนะ : 2522 เรื่องสั้นกึ่งนิยาย , จนตรอก : 2523 นวนิยายขนาดสั้น , คำพิพากษา : 2524 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย ,เรื่องธรรมดา : 2526 เรื่องสั้นขนาดยาว , มีดประจำตัว : 2527 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 1 , หมาเน่าลอยน้ำ พ.ศ. 2530 นวนิยายขนาดสั้น , พันธุ์หมาบ้า : 2531 นวนิยายขนาดยาว , นครไม่เป็นไร : 2532 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 2 , เวลา : 2536 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย , บันทึก : บันทึกเรื่องราวไร้สาระของชีวิต : 2539 ความเรียง-บันทึก , รายงานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตี : 2539 เรื่องสั้นขนาดยาว ,เปลญวนใต้ต้นนุ่น : 2546 รวมบทความของ ชาติ จากนิตยสารสีสัน 2542-2546 , ลมหลง : 2543 บทภาพยนตร์ , บริการรับนวดหน้า : 2548 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 3 งานที่ได้รับรางวัล คือ เรื่องสั้นเรื่อง ผู้แพ้ ได้รับรางวัล ช่อการะเกด และรางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2522จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ คำพิพากษา : 2524 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย พิมพ์เผยแพร่

...........................................................


5. คำกล่าวปราศรัย


คำกล่าวปราศรัย

ของ

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เนื่องในโอกาสเปิดสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์

ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์สระ

แก้วณ สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์สระแก้ว

อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2545 เวลา 13.45 น.

..................................................................


พี่น้องที่เคารพ และเพื่อนข้าราชการทุกๆ ท่าน

ความจริงผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องปราศรัย เพราะคิดว่าคืนนี้จะปราศรัยกับพี่น้องประชาชน แต่วันนี้คงจะพูดเล็กๆ น้อยๆ เป็นการเล่าให้ประชาชนฟังมากกว่า

ผมได้ฟังท่านอธิการและผู้บริหารสถาบันราชภัฏได้พูดเมื่อสักครู่นี้ ผมดีใจที่ระบบการศึกษา ได้เข้าใจว่าการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถ้าเรามีสถาบันการศึกษามากๆ แต่ต้องการเพียงเพื่อให้เด็กได้รับประกาศนียบัตรหรือปริญญาออกไปเพียงเท่านั้น คงเป็นการตอบสนอง วัตถุประสงค์ของการมีสถาบันการศึกษาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่การใช้สถาบันการศึกษาซึ่งเต็มไปด้วยครูอาจารย์และผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นพันๆ คนที่อยู่ในแต่ละสถาบันการศึกษานั้น แล้วนำความรู้และประสบการณ์ของชุมชน มาเชื่อมต่อทางวิชาการกับสถาบันการศึกษานั้น เป็นหัวใจของความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ

ประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาไม่น้อย มีครูอาจารย์ที่จบการศึกษาดีๆ มาไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นดอกเตอร์ แต่สิ่งเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับชุมชนน้อยมาก เพราะเราคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องของ ฝ่ายวิชาการ แต่ความจริงฝ่ายวิชาการเป็นทฤษฎี แต่พี่น้องประชาชนอยู่กับการปฏิบัติ ที่บางครั้งและส่วนใหญ่ไม่มีทฤษฎี ถ้าเราเชื่อมโยงสองสิ่งนี้ได้ ผมเชื่อว่าทุกจังหวัดจะเจริญก้าวหน้ากว่าวันนี้อีกหลายเท่า ไม่เพียงแค่ร้อยละ 10 หรือ ร้อยละ 20 แต่เป็นอีกหลายเท่า เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ คนไทยเป็นคนที่มีศักยภาพ หลายประเทศที่เขาไม่มีอะไรเลย เขาสามารถทำให้ประเทศของเขาให้มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีหนี้สิน ประชากร มีรายได้สูง เพราะเขามีการบริหารการจัดการที่ถูกต้อง

ผมเพิ่งกลับมาจากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม มีทะเลสองด้าน มีภูเขา มีความเขียว มีฝน มีพืชเศรษฐกิจที่ดี แต่ปรากฏว่าชาวนราธิวาสมีรายได้ต่อปีต่อคน 29,000 บาท แต่จังหวัดสระแก้วมี 34,000 บาท ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติแล้ว จังหวัดสระแก้วสู้จังหวัดนราธิวาสไม่ได้ ทั้งนี้ คงต้องถือว่า ชาวสระแก้วโชคดีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดีที่ชื่อ นายเสนาะ เทียนทอง เพราะได้ทุ่มเทนำความเจริญมาสู่ พี่น้องชาวสระแก้ว แล้วนำปัญหาและทุกข์ของพี่น้องไปแก้ไขในระดับชาติเป็นประจำ ทั้งๆ ที่โดยศักยภาพของพื้นที่แล้วสู้นราธิวาสไม่ได้ สิ่งนี้คือตัวอย่างซึ่งประเทศไทยในทุกจังหวัดจะต้องใช้ศักยภาพของคนที่มีอยู่ ของธรรมชาติ ที่ให้มาอย่างเต็มความสามารถ

ฉะนั้น สถาบันการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ การบริหารการจัดการของข้าราชการเป็นหัวใจสำคัญ การเมืองเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จทั้งหมด ผมเชื่อว่าการเมืองได้พัฒนามาถึงจุดที่ประชาชนเข้าใจแล้วว่า การเมืองจะต้องนำปัญญานำมาสู่ประชาชน ไม่ใช่เอาความสับสนวุ่นวายมาสู่ประชาชน ปัญญาคือการร่วมคิดร่วมทำกับประชาชนให้ได้นโยบายที่เป็นการแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยตรง และถูกวิธี นโยบายที่เกิดขึ้น ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้พูดถึงเมื่อสักครู่นี้ เป็นนโยบายที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมทำระหว่างนักวิชาการของพรรคไทยรักไทยกับพี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้นำเกษตรกร มาอย่างต่อเนื่อง แล้วในที่สุดจึงกลายมาเป็นนโยบายของรัฐบาล

ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการทำลายประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากสิ่งที่นำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอย และไม่คิดว่าจะได้จากการเมือง แล้วในที่สุดก็ได้ เมื่อได้แล้วประชาชนก็หวงแหนที่จะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ ฉะนั้น พี่น้องเพื่อนข้าราชการจะต้องทำนโยบายที่เป็นของประชาชนนั้น ให้สัมฤทธิ์ผล นโยบายทุกนโยบายไม่สามารถที่จะ ใช้การได้ทันทีในวันที่ประกาศ หรือในวันที่ลงมือปฏิบัติ ทุกนโยบายจะต้องผ่านการกระบวนการพัฒนา ฉะนั้น การพัฒนาจะต้องมีผิดมีถูก มีข้อบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา ผมขอให้กำลังใจข้าราชการ พี่น้องประชาชนทุกคน

ถึงแม้วันนี้จะมีการส่งเสียงว่ามีปัญหาตรงนั้น ตรงนี้ ผมขอเรียนด้วยเกียรติยศของ นายกรัฐมนตรีว่า ปัญหามีอยู่จริงแต่ไม่มากอย่างที่ถูกนำเสนอ ทุกอย่างมีปัญหา ไม่เคยไม่มีอะไรที่ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาเป็นปัญหาที่ท้าทายความสามารถของข้าราชการและรัฐบาล และพี่น้องประชาชนเองที่จะต้องช่วยกัน ลดปัญหาเหล่านั้น ลดอุปสรรคเหล่านั้น ทำสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ฉะนั้น ความมุ่งมั่นตรงนี้มีอยู่เกินร้อยในหัวใจของพวกเราที่เป็นรัฐบาลทุกคน ขออย่างเดียวคือขอให้พี่น้อง ประชาชนและข้าราชการทั้งหลายได้เข้าใจว่า ความมุ่งมั่นนี้ เป็นสิ่งที่ทั้งหมดกลับไปสู่ประชาชนที่เป็นที่รักของเรา

ถ้าเมื่อประชาชนพ้นทุกข์ เมื่อประชาชนมีลู่ทางในการทำมาหากินที่ดีขึ้น ประชาชนมีรายได้ ประชาชนมีการศึกษาที่ดีขึ้น ฝ่ายวิชาการนำการศึกษาเหล่านี้ ไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของประชาชน วันนั้น จะเป็นวันที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะยิ้มได้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา จะทรงสบายพระทัยมาก เพราะพระองค์ท่านได้ทรงตรากตรำทำงานเพื่อพสกนิกรมาแล้วหลายสิบปี ฉะนั้น วันนี้ขอให้พวกเราทุกคน ได้ทุ่มเทกายใจ โดยยึดชาติเป็นตัวตั้ง และยึดพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง และอุปสรรคทั้งหลายจะ เป็นเรื่องที่เล็กมาก ถ้าเมื่อไรไม่มีอุปสรรค ชีวิตไม่ท้าทาย ไม่สนุกหรอก ชีวิตคนเราถ้ามีความท้าทายบ้างจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความก้าวหน้า ชีวิตมีความสดชื่น ถ้าชีวิตไม่รู้จักคำว่าท้าทาย ชีวิตก็จะอยู่ไปวันหนึ่งๆ คงจะไม่สร้างความเจริญให้กับสังคมได้มากนัก ฉะนั้น ความท้าทายที่มีอยู่ในวันนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลถือว่าเป็นกำลังใจที่จะทำให้ รัฐบาลได้ทุ่มเททำงานให้พี่น้องประชาชน

เมื่อสักครู่นี้ ผมได้ฟังผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้พูดถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัดสระแก้ว ผมดีใจ ทั้งๆ ที่จังหวัดสระแก้วไม่ได้เป็นจังหวัดทดลองทางบูรณาการ หรือ ผู้ว่า CEO แต่วันนี้คำว่ายุทธศาสตร์ได้ออกจากปากผู้บริหารระดับจังหวัด เพราะเมื่อก่อนนี้ประเทศไทยไม่ใช้คำว่ายุทธศาสตร์ เราทำงานวันต่อวัน ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ ทำในหน้าที่ของใครของมัน ไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีใครบูรณาการปัญหา และยุทธศาสตร์ แต่วันนี้ เมื่อคนระดับผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เริ่มพูดคำว่ายุทธศาสตร์ เริ่มคิดเป็นบูรณาการ เราสำเร็จไปอย่างน้อยร้อยละ 30 แต่ถ้าเมื่อเราทำถูกต้องก็จะสำเร็จเกินครึ่งหนึ่ง ผมขอให้ผู้บริหารทุกๆ ระดับได้เข้าใจหัวใจของความเป็นเจ้าภาพ หรือเป็นผู้รับผิดชอบ หรือเป็นผู้บูรณาการปัญหาและยุทธศาสตร์ จะทำให้การแก้ไขปัญหาทุกแห่งเข้มแข็ง

ผมไปประชุมที่ประเทศเม็กซิโก เป็นการประชุมในหัวข้อเรื่อง “Financing for Development” คือ การเงินเพื่อการพัฒนา มีประเทศยากจน และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ยากจน และประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปร่วมกัน ผู้นำประเทศไปร่วมกันไม่น้อยกว่า 55-60 ประเทศ ทุกคนได้พูดถึงแหล่งเงินเพื่อการพัฒนาอยู่ 4 ส่วน ส่วนหนึ่งเกิดจากการค้าขาย ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุน ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินให้เปล่า และส่วนหนึ่งเกิดจากเงินกู้ยืม ทั้งสี่ส่วนจะถูกใช้ในการพัฒนาที่ต่างกัน จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่ประชากรมีรายได้ต่ำ ฉะนั้น ในช่วงนี้การช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐคงต้องมีเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนและการค้าขายจากภาคเอกชน เพื่อจะให้ได้เงินอีกสามส่วน และแน่นอนว่าเมื่อภาคเอกชนสนใจลงทุน เงินกู้ยืมของระดับสถาบันการเงิน เพื่อการพัฒนาและเพื่อการพาณิชย์จะเข้ามา และเมื่อวันนั้นเศรษฐกิจจะหมุนเวียนดีขึ้น

ผมมองปัญหาหลายส่วนของประเทศ ผมเชื่อว่าถ้าเราทำต่อเนื่องแบบนี้ และผมมั่นใจว่านโยบายของรัฐบาลวันนี้เป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพราะเมื่อการประชุมที่ประเทศเม็กซิโกได้มีการทำฉันทามติมอนเตอเรย์ ซึ่งเป็นเมืองที่ประชุมกัน ใช้คำว่า “Monterey Consensus” หรือฉันทามติมอนเตอเรย์ แนวคิดทั้งหมดของการที่สหประชาชาติเป็นคนกำหนดว่า ต่อไปนี้ทุกประเทศในโลกจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรนั้น เป็นแนวทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลไทยทั้งสิ้น ซึ่งเราได้ใช้นโยบายนี้โดยได้ประกาศมาแล้ว 3 ปี แล้วมาใช้เมื่อมาเป็นรัฐบาลปีเศษๆ

และวันนี้สหประชาชาติได้เชิญผมไปบรรยายหลายที่ แล้วหลายประเทศได้เชิญนักวิชาการของพรรคไทยรักไทยและนักวิชาการของรัฐบาลไปบรรยายหลายที่เกี่ยวกับเรื่องแนวคิดทางนโยบาย ซึ่งนโยบายหลักคือเรายังมุ่งที่จะยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่จะต้องมีการค้าการลงทุนข้ามชาติ มีการส่งออกเป็นหัวใจหลัก แต่ขณะเดียวกันนั้นเราจะไม่ทอดทิ้งการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ การส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน พร้อมๆ ไปกับการขจัดปัญหา ความยากจนไปในเวลาเดียวกัน และใช้ระบบการบริหารราชการและรัฐบาลที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบได้ ยึดหลักของกฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก นั่นคือสิ่งที่ตรงกับ Monterey Consensus อย่างเต็มที่

วันนี้ ผมต้องขอขอบคุณข้าราชการทั้งประเทศ ซึ่งวันนี้ วันที่ 1 เมษายน 2545 เป็นวันข้าราชการพลเรือน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งกระทรวงขึ้นมาเมื่อปี 2435 หรือ 110 ปี ที่ผ่านมา 12 กระทรวง และพระองค์ท่านได้ตรัสเมื่อปี 2417 ว่าความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการเพื่อให้ระบบราชการเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประชาชนติดต่อสะดวก บริการสะดวก และมีเจ้าภาพผู้รับผิดชอบ ซึ่งวันนี้ ความจริงก็ยังเป็นจริงอยู่ และวันนี้ก็ยังไม่จริงสำหรับระบบงานที่ยังไม่ได้รับการปฏิรูป และเรากำลังปฏิรูป ฉะนั้น ผมขอให้กำลังใจทุกๆ ท่านที่เป็นข้าราชการว่า เราจะต้องมุ่งมั่นทำงานเพราะเราได้ตัดสินใจมารับใช้ชาติแล้ว ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติก็เช่นกัน เราต้องคิดว่านี่คือการตัดสินใจมารับใช้ชาติ เป็นงานอาสา ไม่ใช่เป็นงานสร้างอาชีพให้กับตนเองและครอบครัว แน่นอนว่าเรามีค่าตอบแทน แต่อย่าหวังว่าค่าตอบแทนนั้นจะนำมาซึ่งความร่ำรวย ต้องหวังว่าเรามีเกียรติที่ประชาชนไว้ใจ และเรากำลังจะ ทำเกียรตินั้นให้เป็นที่ภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูลเราด้วยการเสียสละและทุ่มเททำงานให้บ้านเมือง ผมเชื่อมั่นว่า นักศึกษาที่เข้าโครงการกองทุนหมู่บ้านก็จะคิดเช่นกัน แต่อย่าไปคิดว่าเพราะท่านไม่มีงานทำ ต้องคิดว่าการเรียนรู้ในชีวิตไม่มีคำว่าสิ้นสุด อายุเท่าไรก็ไม่มีสิ้นสุด

เมื่อวานนี้ วันที่ 31 มีนาคม 2545 ผมไปที่จังหวัดนราธิวาส ก่อนกลับมีนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาส่งผม นักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งอายุ 79 ปี ฉะนั้น การเรียนรู้ไม่มีคำว่าอายุ ไม่มีคำว่าพื้นฐาน แต่การเรียนรู้จะเรียนรู้ในระบบหรือนอกระบบได้ทั้งนั้น เพราะว่าตราบใดที่ชีวิตยังมีลมหายใจ มนุษย์ต้องเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อจะเอาปริญญา แต่เรียนรู้ในสิ่งสร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์มาก

นักศึกษาวันนี้ท่านมีโอกาสกว่าคนอื่น เพราะท่านได้ไปเห็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ไปเห็นการต่อสู้ปัญหาอุปสรรค และสิ่งที่อาจจะเป็นปราชญ์ของชาวบ้าน ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่มีโอกาส เมื่อท่านได้ไปเห็นและ ท่านได้เรียนมามากกว่าเขา สองสิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วจะเกิดพลังที่สำคัญ และท่านเองอาจจะได้ประกาย ความคิดบางอย่างที่นำไปใช้ในวันข้างหน้า อาจใช้เพื่อการประกอบอาชีพของท่านเอง หรือใช้เพื่อเลือกแนวทางชีวิตของท่านในอนาคต ขอให้เรียนรู้ว่าทุกที่ในประเทศไทย ทุกจังหวัดในประเทศไทย ให้ความรู้แก่เราทั้งนั้น แม้กระทั่งผมเรียนหนังสือจบปริญญาเอก ผมทำธุรกิจระดับประเทศ และระดับนานาประเทศมาแล้ว เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี แต่วันที่ผมตั้งพรรคการเมืองผมต้องออกไปพบประชาชน ทั่วประเทศ ผมได้รับความรู้ในสิ่งที่ผมไม่คิดว่าผมจะรู้อีกมากมาย และเป็นประสบการณ์ที่ผมใช้สำหรับ การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในวันนี้

ดังนั้น ผมจึงขอให้นักศึกษาได้ใช้โอกาสของท่านเรียนรู้ แล้วท่านจะสนุก ท่านจะไม่เบื่อ ถ้าเมื่อไรคนใดคนหนึ่งตื่นขึ้นมา แล้วมีความรู้สึกว่ากำลังต้องผันตัวเองลุกจากเตียงเพื่อไปทำงานในสิ่งที่จำเจ วันนั้นท่านต้องถามตัวเองว่า วันคืนผ่านไปท่านกำลังทำอะไรอยู่ นั่นคือสิ่งที่พระท่านได้สอนไว้ ฉะนั้น ท่านต้อง ทบทวนตัวเองว่า วันคืนล่วงไปๆ สิ่งที่ท่านทำนั้น คงจะต้องมีประโยชน์ต่อชีวิตท่าน ครอบครัว ประชาชน ฉะนั้น อยากให้ท่านเรียนรู้ การเรียนรู้เป็นสิ่งประเสริฐ และเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นคือหัวใจของการศึกษายุคใหม่
ผมหวังว่าอาจารย์ นักศึกษาของสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์สระแก้ว จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันนำความรู้ประสบการณ์เชื่อมกับชุมชน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน ร่วมกับข้าราชการเพื่อสร้างจังหวัดสระแก้วให้เข้มแข็ง ร่วมกับการเมืองระดับชาติเพื่อนำสระแก้วให้เป็นจังหวัด ที่เราภาคภูมิใจ ให้พี่น้องประชาชนมีความสุขทุกคน ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่านทุกคน สวัสดีครับ

.........................................................









2 ความคิดเห็น: